อว. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ม.นเรศวร พร้อมยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สู่การสร้างคนด้านโลจิสติกส์ในศตวรรษที่ 21
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผศ.ศจี ศิริไกร และ ผศ.ไชยยันต์ ชนะพรมมา ผู้แทนคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ร่วมติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยด้วยดิจิทัลซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) โดยมี ศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และ รศ.ดร.วัชรพล สุขโหตุ คณบดีคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับ
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ตนและผู้แทนคณะอนุกรรมการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย มีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีศักยภาพและความพร้อมทั้งในเชิงพื้นที่ที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง สามารถเชื่อมโยงระหว่างภาค และเชื่อมโยงการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึง โครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายคมนาคมการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางรถไฟ ที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาการบริการด้านโลจิสติกส์ในอนาคต และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การบริการและการท่องเที่ยวของภูมิภาคได้เป็นอย่างดี ประกอบกับผลการดำเนินโครงการในการให้คำปรึกษาและการสร้างแพลตฟอร์มการบูรณาการของการแก้ปัญหาและให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของไทยมีทักษะด้านดิจิทัลซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจของประเทศ จะทำให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นฐานในการสร้างองค์ความรู้ และมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงระดับโลกด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยขอให้มหาวิทยาลัยขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์และการขับเคลื่อนนโยบายในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อส่งผลให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ และการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ภูมิภาค และระดับประเทศต่อไป
ศ.ดร.กรกนก กล่าวว่า การพัฒนาโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และความต้องการด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสําหรับการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนให้อยู่ในระดับที่สูง เช่น องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (Digital Engineering and Artificial Intelligence) การพัฒนาระบบอัตโนมัติและระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) การสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและสารสนเทศ (Digital and Information Economy) และการสร้างโมเดลทางธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และอุตสาหกรรมของไทย โดยการใช้ศาสตร์ทางด้านดิจิทัลซัพพลายเชนและโลจิสติกส์เป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การพัฒนาเศรษฐกิจมูลค่าสูง
“มหาวิทยาลัยนเรศวรมีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคอุตสาหกรรมและธุรกิจดิจิทัลในมิติของภาคการศึกษา ผ่านโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ของกระทรวง อว. โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างและพัฒนาคนด้านโลจิสติกส์ในศตวรรษที่ 21 สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Valued-Based Economy) ตลอดจนสร้างเครือข่ายการทํางานแบบจตุรภาคี (Quadruple Helix) โดยประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ การพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยด้วยดิจิทัลซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ การสร้างแพลตฟอร์มการบูรณาการของการแก้ปัญหาและให้คําปรึกษาด้านดิจิทัลซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ และการพัฒนาทักษะที่มีอยู่และการเสริมทักษะใหม่ของบุคลากรด้านดิจิทัลซัพพลายเชนและโลจิสติกส์” ศ.ดร.กรกนก กล่าว